วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

"โสภณ" คาดยอดขายอสังหาฯ ปีนี้โต 7.5% แนะเพิ่มเงินดาวน์ลดความร้อนแรงป้องกันฟองสบู่

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตส แอฟแฟร์ส (AREA) เผยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคึกคักต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยคาดว่าปีนี้จะมียอดขายที่อยู่อาศัยสูงถึง 115,480 หน่วย เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อนที่ขายได้ทั้งสิ้น 107,412 หน่วย และขณะนี้มีหน่วยรอขายอยู่ทั้งสิ้น 133,238 หน่วย ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก เพียง 3% ของจำนวนบ้านทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าจะต้องมีมาตรการมารองรับช่วยลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ลง เช่น การเพิ่มเงินวางดาวน์ให้สูงขึ้นจากปกติ 5-10% เป็น 15% ของมูลค่าอสังหาฯ และการที่ธนาคารพาณิชย์จะคุมการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอสังหาฯ จะส่งผลดีที่จะช่วยลดความร้อนแรงได้ แต่ยอมรับว่า ผลกระทบจะเกิดกับผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่ารายใหญ่ เนื่องจากไม่มีเงินทุนเท่ากับรายใหญ่ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ เนื่องจากขณะนี้การซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไรก็มีมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแรงงานที่ยังขาดแคลน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีกำลังเพียงพอในการผ่อนบ้านหรือไม่ แม้จะมีความต้องการบ้านอยู่ต่อเนื่อง

ส่วนโครงการที่เปิดใหม่จะมีราคาเฉลี่ยต่อหลังลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 6% จาก 2.937 ล้านบาท/หน่วย เหลือ 2.775 ล้านบาท/หน่วย เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องการขยายจำนวนหน่วยของโครงการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ขายได้มากขึ้น ขณะนี้ขนาดห้องหรือบ้านก็มีขนาดเล็กลง

อย่างไรก็ตามภายในเดือนสิงหาคม ทางศูนย์ข้อมูลวิจัยฯ จะลงพื้นที่สำรวจทั้งกรงุเทพฯและปริมณฑล รวมถึงในจังหวัดต่างๆ เพื่อสำรวจดูสัดส่วนการซื้อเพื่อเก็งกำไรหรืออยู่อาศัยจริง ในการนำผลศึกษามาวิจัยสัดส่วนการซื้อในตลาดอสังหาฯ และความเสี่ยงการเกิดฟองสบู่ในอสังหาฯต่อไป

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลลิลฯเปิดตัวคอนโดแบรนด์ใหม่โซนลาดพร้าว-รามฯ

ลลิลฯ เห็นต่าง มองดีมานด์ที่อยู่อาศัยครึ่งปีหลังไม่ได้ชะลอตัวลง ดันคอนโดฯ แบรนด์ใหม่ เปิดตัวพร้อมกันบน 2 ทำเล สุดสัปดาห์นี้

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยังเชื่อว่าความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ชะลอตัวลงแต่อย่างใด แม้ว่ากำลังซื้อในภาพรวมอาจจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม และจากกระแสความต้องการที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่  ซึ่งมีครอบครัวขนาดเล็กลง และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ต้องการการเดินทางที่สะดวกสบาย บริษัทจึงได้เปิดตัวคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ “ลิปป์” (LIB) บน 2 ทำเล ได้แก่  รามคำแหง 43/1 และ ลาดพร้าว 20

สำหรับโครงการลิปป์ รามคำแหง 43/1 เป็นคอนโดมิเนียม สูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร บนเนื้อที่โครงการกว่า 2 ไร่  บริเวณซอยคุณหญิงเจือ นครราชเสนี หรือซอยรามคำแหง 43/1 รวม 229 ยูนิต มีขนาดห้องตั้งแต่ 26.25-40.50  ตารางเมตร และช้อปเฮ้าส์ จำนวน 3 ร้าน  ราคาเริ่มต้น 1.45 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2556

ในขณะที่โครงการลิปป์  ลาดพร้าว 20 เป็นคอนโดมิเนียม สูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่บริเวณซอยลาดพร้าว 20 ห่างจากสถานี MRT ลาดพร้าว 350 เมตร รวม 175  ยูนิต มีขนาดห้องตั้งแต่ 26.25 - 43  ตารางเมตรราคาเริ่มต้น  1.89 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1   ปี 2557

โดยทั้งสองโครงการได้ผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)  เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวโครงการและการขายอย่างเป็นทางในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2556 นี้ที่สำนักงานขายโครงการ

นอกจากนี้ นายชูรัชฏ์ ยังได้เปิดเผยถึงแนวโน้มในการขยายโครงการไปยังต่างจังหวัดว่าหากจะมีการขยายโครงการไปจริง จะเป็นโครงการในแนวราบมากกว่าเนื่องจากรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในต่างจังหวัดนิยมพักอาศัยในบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์มากกว่าคอนโดมิเนียม ส่วนงบในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการเพิ่มเติมในปีนี้ บริษัทได้ตั้งงบไว้ที่ 800-1,000 ล้านบาท โดยจะเน้นที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกใช้งบไปแล้วประมาณ 600-700 ล้านบาท

ด้านราคาขายนั้น บริษัทได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นอีก 3-5% ตามต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่เลือกปรับในบางทำเลเท่านั้น

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ราคาที่ดินหนองคายพุ่งรับ“เออีซี“ แห่ซื้อเก็งกำไรขายกลุ่มทุน

           นายวิวัฒน์ชัย จิวาศักดิ์อภิมาศ รองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดหนองคาย และผู้ประกอบการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ราคาที่ดินของจังหวัดหนองคายตอนนี้ถือเป็นช่วงที่มีราคาสูงมาก ราคาที่ซื้อขายกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้มาก และที่สำคัญมีการซื้อเพื่อเก็งกำไรกัน ส่งผลให้ราคาซื้อขายจริงสูงขึ้น โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์และที่ดินริมถนนสายที่ตัดจากตัวเมืองหนองคายไปด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้น ขณะนี้บูมกว่าทุกจุด อาคารพาณิชย์จากเดิมที่มีการซื้อขายกันที่ห้องละ 1.9-2 ล้านบาท สูงขึ้นเป็น 5-7 ล้านบาท ส่วนราคาที่ดินที่ซื้อ-ขายนั้นก็สูงกว่าราคาประเมินหลายเท่าตัว ล่าสุดที่มีการซื้อขายกันอยู่ที่ไร่ละ 8-9 ล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินล่าสุดที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 5.2 ล้านบาทต่อไร่ทางด้าน นายวีระชัยโชค มงคลภูมิรัตน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ราคาที่ดินในจังหวัดหนองคายขณะนี้ถือว่าสูงมากจนเต็มเพดาน เฉพาะค่าเช่าก็ยังสูงเช่นเดียวกัน ล่าสุดมีการเช่าที่ 30 ไร่ 30 ปี ค่าเช่าสูงถึง 60 ล้านบาท ส่วนราคาขายที่ดินในตัวเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก พื้นที่กว่า 4 ไร่ ขายกันที่กว่า 100 ล้าน ที่ริมแม่น้ำโขง 3 ไร่ ขาย 75 ล้านบาท โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ซีพี แสนศิริ รวมไปถึงกลุ่มทุนที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัย ได้เข้ามาหาที่ดินแปลงใหญ่เพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม เพื่อรองรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 คาดกันว่าจะมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในจังหวัดหนองคายเป็นจำนวนมาก มีการขออนุญาตสร้างรีสอร์ต โรงแรมขนาดใหญ่ 7 ชั้นริมถนนหนองคาย-โพนพิสัย รวมไปถึงโฮมโปรที่ได้ลงมือก่อสร้างไปแล้ว การลงทุนโครงการใหญ่ๆ ข้างต้นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ทำให้ขณะนี้คนหนองคายระดับรากหญ้าจนถึงระดับกลาง ยากที่จะมีที่ดิน รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบ้านและอาคารพาณิชย์ในเขตเมืองเป็นของตัวเองการซื้อขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ในจังหวัดหนองคายเริ่มคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2553 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2555 จนถึงขณะนี้การซื้อขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ในจังหวัดหนองคายคึกคักมาก ทำให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อเทียบกับปี 2554 แล้ว ราคาที่ดินและอาคารพาณิชย์ปรับขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัว จากกระแสข่าวที่มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการใหญ่ๆ อีกหลายโครงการจะเข้ามาดำเนินการในเร็วๆ นี้ ประกอบกับจังหวัดหนองคายเป็นหน้าด่านในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการเปิดเออีซีในปี 2558 จึงทำให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ มีกลุ่มทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเป็นแปลงใหญ่ตั้งแต่ 50-300 ไร่ เพื่อขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาตั้ง ยิ่งส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดหนองคายมีราคาสูงเกินจริงขึ้นไปอีก ที่ดินที่มีการซื้อขายกันขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของขายเอง แต่เป็นมือที่ 3-4 แล้วสำหรับราคาประเมินที่ดินที่สูงที่สุดนั้นจะอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยเฉพาะที่ดินที่ติดกับถนนประจักษ์ที่เป็นถนนสายหลักภายในเขตเทศบาลราคาประเมินสูงมาก อยู่ระหว่าง 8-10 ล้านบาทต่อไร่ แต่การซื้อขายกันจริงๆ แล้วสูงกว่าราคาประเมินมาก โดยเฉพาะแปลงสวยๆ นั้นราคาซื้อขายกันจริงๆ จะสูงเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนที่ดินริมโขงภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคายนั้น ราคาประเมินอยู่ระหว่าง 3-4 ล้านบาท แต่ซื้อขายกันจริงๆ สูงกว่านี้จุดที่มีการซื้อขายสูงกว่าราคาประเมินอีกจุดหนึ่ง คือที่ดินริมถนนสายจากตัวเมืองหนองคายไปด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์มากกว่า 100 ห้อง ก็สามารถขายได้หมดภายในเวลาไม่นาน ราคาประเมินที่ดินริมถนนเส้นนี้อยู่ที่ประมาณ 1.8-2 ล้านบาทต่อไร่ แต่ซื้อขายกันจริงๆ สูงถึง 8-9 ล้านบาทต่อไร่เลยทีเดียว

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเคหะแห่งชาติ (ประเทศไทย)

การเคหะแห่งชาติ (อังกฤษ: National Housing Authority) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516

ประวัติ
สืบเนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2483 หลังจากเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี พ.ศ. 2504 ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2493) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2496) และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครกรุงเทพ (ปี พ.ศ. 2503) จนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงมีการกำหนดนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยขึ้น และได้จัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
จัดให้มีเคหะเพื่อประชาชน เช่า หรือเช่าซื้อ
จัดหาเงินกู้มาสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเช่าซื้อหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลที่จะสร้างที่อยู่อาศัย
ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดสรรที่ดิน
และต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติ การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 ดังนี้
จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย
ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเอง หรือแก่บุคคลผู้ประสงค์ จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช.ในการจัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อหรือซื้อ
ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน
ปรับปรุงรื้อหรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรมเพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น
ประกอบธุรกิจการอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น


วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียน

 การได้ทราบถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์เปรียบเทียบระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ซื้อบ้าน นักลงทุนและนักพัฒนาที่ดินไทยไม่น้อย และเผื่อเป็นข้อคิดประกอบการวางแผนการลงทุน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการนำเสนอสถานการณ์ล่าสุดจากการนำเสนอของผู้รู้จากแต่ละประเทศโดยตรง
          ในระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม ศกนี้ ผมไปเป็นวิทยากรในงานสัมมนาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งภูมิภาคอาเซียน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้รู้จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มานำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดอส้งหาริมทรัพย์ในประเทศของตน ผมจึงขอสรุปความเพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ล่าสุดและเผื่อเป็นข้อคิดสำหรับประเทศไทย

บรูไน
          ประเทศนี้มีประชากรเพียง 383,000 คน เป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการผลิตน้ำมันมหาศาล ดังนั้นประชาชนได้สวัสดิการอย่างดี มีขนาดเล็กเพียง 5,270 ตร.กม. หรือใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครเพียง 3 เท่า แต่มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่รวมอีก 5 จังหวัดโดยรอบคือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและนครปฐมด้วยแล้ว
          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือที่ดินทั้งหมดมีเพียง 4% ที่เป็นของเอกชน ที่เหลือเป็นของรัฐ  58% เป็นป่าไม้ 36% และอื่น ๆ 2% ในจำนวน 4% ที่เป็นของเอกชนนั้น 73% ใช้เพื่อการเกษตร 2% ใช้เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 16% ใช้เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้นและอีก 11% ใช้ผสมระหว่างที่อยู่อาศัยกับพาณิชยกรรม เช่น ตึกแถว
          ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนี้ไม่คึกคัก ทั้งนี้คงเป็นเพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ค่อนข้างต่ำมานาน (3-4%) มีภาวะล้นตลาดในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยที่แต่เดิมเน้นบ้านเดี่ยวก็หันมาทำอาคารชุดบ้าง เพราะที่ดินที่จะพัฒนามีจำกัด อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้บรูไนจะมีขนาดเล็กเพียงใด แต่ก็ไม่มีใครสามารถผูกขนาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ นี่เป็นการสะท้อนธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดติดกับทำเล ไม่มีใครจะสามารถสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้ถูกใจคนทุกทำเลได้

มาเลเซีย
          ประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งสำคัญของเรานี้ มีดีที่มีน้ำมัน และมีนักลงทุนจากตะวันออกกลางมามากเป็นพิเศษ อาคารชุดราคาแพงใจกลางเมือง 30% ซื้อไว้โดยคนต่างชาติซึ่งส่วนมากมาจากตะวันออกกลาง ในขณะที่ประเทศไทยของเราขาดโอกาสอันนี้ เพียงเพราะมีคนไปขโมยเพชรและคนที่ “อม” เพชรซาอุฯ ไปจนประเทศชาติเศร้าหมองเช่นนี้
          65% ของอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาในมาเลเซียคือที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับไทยที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA สำรวจไว้ว่ามีประมาณ 70% ปีที่แล้วมีที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ 52,570 หน่วยทั่วประเทศซึ่งต่ำกว่าไทยเพราะเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ AREA ก็ยังมีที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ถึง 81,364 หน่วย ราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่ม 4-8%
          อาคารชุดใจกลางเมืองรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าก็เติบโตสูงมาก ราคาแพงสุดของเขาตกเป็นเงินหน่วยละ 30-80 ล้านบาท ส่วนอาคารชุดทั่วไปราคาตารางเมตรละ 65,000 – 90,000 บาท ซึ่งก็คล้ายกับไทย
          ในกรณีอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ มาเลเซียมีพื้นที่สำนักงานมากกว่าไทยคือ 14.5 ล้านตารางเมตร (คงรวมสำนักงานขนาดเล็กไปด้วย) และมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 8.6 ล้านตารางเมตร โดยค่าเช่าตกตารางเมตรละ 1,600 – 7,500 บาท
          การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียนั้น ภาครัฐมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ในกรณีของไทยที่เน้นการสร้างบ้านเอื้ออาทรหรือโครงการ “ลูบหน้าปะจมูก” อื่น ๆ รัฐบาลมาเลเซียมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ การพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มั่นคงและยาวนาน ข้อนี้ไทยควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง

สิงคโปร์
          ประเทศขนาดกระจ้อยร่อยที่มีพื้นที่เพียง 44% ของกรุงเทพมหานครนี้ เป็นศูนย์รวมการลงทุน ถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษคล้ายฮ่องกง หรือดูไบ ปรากฏว่าประเทศนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.7% ในปีที่แล้ว สูงกว่าที่ประเทศเขาเองคาดหวังด้วยซ้ำ ด้วยความพิเศษของสิงคโปร์นี้จึงช่วงชิงความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย เป็นต้น
          ราคาอาคารชุดพักอาศัยที่เคยตกต่ำมาในช่วงก่อนได้เติบโตขึ้นจนปีที่แล้วเติบโตสูงเหนือระดับราคาสูงสุดของปี 2539 (ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540) แล้ว โดยราคาเพิ่มขึ้นถึง 30.4% ขณะนี้ราคาสูงสุดตารางเมตรละ 1 ล้านบาท
          ในด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าก็เพิ่มขึ้น 18% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยค่าเช่าตกเป็นเงินตารางเมตรละ 7,500 – 15,000 บาท (ของไทยอยู่ที่ 2,000 บาท) ส่วนสำนักงานก็เพิ่มค่าเช่าพื้นที่ไป 29% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเช่าเฉลี่ยขณะนี้ตกเป็นเงิน 5,400-7,500 บาทต่อตารางเมตร (ของไทยอยู่ที่ 600 บาท)
          เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับการลงทุนของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในเมื่อเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังย่ำแย่ในขณะนี้ จึงอาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ชะลอตัว ในไตรมาส 1/2551 นี้ โครงการพัฒนาที่ดินหลายแห่งได้เริ่มชลอการเปิดตัวออกไป

อินโดนีเซีย
          ประเทศนี้มีขนาดใหญ่กว่าเราเกือบ 4 เท่าทั้งในด้านขนาดที่ดินและในด้านประชากร อย่างไรก็ตามฐานะทางเศรษฐกิจอาจจนกว่า คือมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น ทำให้ประเทศนี้มีประชากรยากจนประมาณ 18% สูงกว่าไทยที่มีคนจนอยู่ราว 10%
          ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า จึงทำให้มีพื้นที่อาคารสำนักงานเพียง 3.5 ล้านตารางเมตรในเขตมหานครจาการ์ตา (ซึ่งรวมกรุงจาการ์ตาและเมืองโดยรอบ คล้ายภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของไทย) ในขณะที่กรุงเทพมหานครของเรามีพื้นที่สำนักงานถึง 8 ล้านตารางเมตร
          สำหรับโครงการอาคารชุดในเขตมหานครจาการ์ตามีห้องชุดเปิดตัวใหม่ในปี 2550 เพียง 11,606 หน่วย ซึ่งถ้าเทียบกับกรุงเทพมหานครแล้ว ถือว่าน้อยมาก ในขณะที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA สำรวจพบห้องชุดถึง 44,750 หน่วย เปิดใหม่ในกรุงเทพมหานครในห้วงเวลาเดียวกัน
          ปรากฏการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศอินโดนีเซียจะมีขนาดใหญ่ ทรัพยากรมาก แต่หากการจัดการไม่ดี และขาดความมั่นคงทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ประเทศมีการเติบโตในขอบเขตจำกัด

          สำหรับประเทศเวียดนามและกัมพูชานั้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA ได้จัดทำแถลงข่าวฉบับที่ 7 และ 8 เกี่ยวกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสองประเทศนี้เผยแพร่ไปเรียบร้อยแล้ว (โปรดดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.area.co.th)

 จากการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สามารถพบข้อส้งเกตที่น่าสนใจบางประการ กล่าวคือ
          1. อสังหาริมทรัพย์นั้น มีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีการเติบโตดี อสังหาริมทรัพย์ก็จะโตตาม การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่การดึงดูดการลงทุนโดยการทำประเทศให้มีความมั่นคงทางการเมือง หากประเทศมีความวุ่นวายเช่นนี้จะส่งผลลบต่อชาติอย่างมหาศาล อีกทางหนึ่งในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่การกระตุ้นภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคหรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อวางรากฐานสำคัญของประเทศโดยภาครัฐ (ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์เพียงเพื่อช่วยผู้ประกอบการเช่นที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่)
          2. อสังหาริมทรัพย์มีธรรมชาติที่แน่ชัดที่ติดกับทำเล ไม่มีใครครองส่วนแบ่งตลาดได้ และตลาดหลักก็คือตลาดใช้สอยในประเทศ การคาดหวังให้ต่างชาติมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึง และเป็นเพียงการส่งเสริมให้ “แร้งลง” มาจิกกินประเทศเราเท่านั้น
          3. เราควรพยายามเปิดกว้างรับข้อมูลความเปลี่ยนแปลงอสังหาริมทรัพย์จากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น เพื่อให้ทันสถานการณ์และปรับใช้เพื่อการลงทุน การวางแผนพัฒนาในประเทศของเรา ทั่วโลกมีศูนย์ข้อมูลและสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ให้บริการข้อมูลแก่สาธารณชนที่สนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ติดข้อจำกัดเช่นสมัยก่อนที่มีข้อมูลจากเฉพาะบริษัทนายหน้าข้ามชาติ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดที่ความเบี่ยงเบนเนื่องจากผลประโยชน์ ด้วยโอกาสที่เปิดเช่นนี้นักลงทุนและผู้ประกอบการมืออาชีพจึงต้องมองออกไปในโลกกว้างให้มาก

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลักษณะประชากรในทวีปอเมริกาใต้

จำนวนประชากร

            ทวีปอเมริกาใต้มีประชากรประมาณร้อยละ 6 ของโลก มีประชากรประมาณ  382  ล้านคน (ค.ศ.2011) หรือมีจำนวนมากถึงอันดับ 5 ของโลก และมีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 22 คนต่อตารางกิโลเมตร  ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของทวีป คือ ประเทศบราซิล มีประชากรประมาณ 187 ล้านคน ส่วนประเทศเอกราชที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด คือ ประเทศซูรินาเม มีประชากรประมาณ 5 แสนคน

 การกระจายตัวของประชากร

         เขตที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบางในทวีปอเมริกาใต้

          ทวีปอเมริกาใต้จัดเป็นทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง ทั้งนี้เนื่องจากบางแห่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอยู่ของประชากร เช่น

         - บริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน  เป็นที่ราบลุ่มน้ำที่กว้างขวางที่สุดในโลก แต่เป็นเขตป่าดิบที่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมติดต่อกัน มีอุทกภัยเกิดขึ้นเสมอและมีสัตว์ป่าที่เป็นอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม

         -  บริเวณที่ราบสูง ซึ่งมีทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น มักเป็นเขตแห้งแล้งเป็นทะเลทราย ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์

         -  บริเวณเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงที่มีแนวต่อเนื่องกันยาวที่สุดในโลก เป็นพื้นที่สูงชันทุรกันดาร เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย

      เขตที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในทวีปอเมริกาใต้

         มักเป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเหมาะสมกับการดำรงชีวิต เช่น มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเขตชายฝั่งทะเล มีลักษณะภูมิอากาศอบอุ่นและปริมาณฝนเพียงพอแก่การเพาะปลูก มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีระบบการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ดังนี้

        – บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่ตอนใต้ของปากแม่น้ำแอมะซอนลงมาทางใต้ในเขตประเทศบราซิล อุรุกกวัยและบางส่วนของประเทศอาร์เจนตินา

        – บริเวณทางตอนบนของทวีป  นับตั้งแต่ชายฝั่งด้านทะเลแคริบเบียนจนถึงอ่าวปานามา หรือเขตพื้นที่ของประเทศเวเนซุเอลา

        – บริเวณด้านตะวันตกของทวีป ได้แก่ ประเทศโคลอมเบีย  เอกวาดอร์ แถบเมืองลิมาประเทศเปรู

        – บริเวณตอนกลางของประเทศชิลีที่มีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน

ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของทวีปอเมริกาใต้

        วัฒนธรรมของทวีปอเมริกาใต้จัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมละตินอเมริกัน ลักษณะเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาของประชากรมีรากฐานมาจากกลุ่มยุโรปใต้ ผสมผสานกับวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง และ     นิโกร

เชื้อชาติ

               พวกอินเดียนแดง เป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปอเมริกาใต้ อาศัยอยู่บริเวณที่สูง บนเทือกเขาแอนดีส เขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแอมะซอน ชายฝั่งทะเลแคริบเบียน มีอารยธรรมของตนเอง เช่น ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

               พวกผิวขาวจากยุโรป   ซึ่งอพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณ พ.ศ.2400 ได้แก่ ชาวสเปน โปรตุเกส  อิตาลี เยอรมัน และโปแลนด์ ส่วนใหญ่เชื้อสายสเปน และโปรตุเกส เข้ายึดครองดินแดนจากชาว พื้นเมือง  อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกและทางใต้ของทวีป

               พวกนิโกร  เข้ามาในสมัยหลัง โดยชาวผิวขาวจับมาเป็นทาส ทำงานตามแหล่งเพาะปลูกในเขตร้อน เหมืองแร่ของชาวผิวขาวในประเทศบราซิล และโคลัมเบีย

               พวกเอเชีย  ได้แก่ ชาวจีน ญี่ปุ่น อินเดียและอินโดนีเซีย  โดยเข้ามาอาศัยดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

              พวกเลือดผสม  มีกลุ่มประชากรสายเลือดผสมหลายกลุ่ม คือ

                 -เมสติโซ (Mestizos) เป็นสายเลือดผสมระหว่างชาวผิวขาว กับชาวอินเดียนแดง เป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้

                 -มูแลตโต (Mulattos) เป็นสายเลือดผสมระหว่างชาวผิวขาว กับนิโกร

                 -แซมโบ (Zambos) เป็นสายเลือดผสมระหว่างชาวอินเดียนแดง กับนิโกร

 2. ภาษาที่ใช้ในทวีปอเมริกาใต้  ได้แก่

             ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการของประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศสเปนมาก่อน คือ โคลัมเบีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย ปารากวัย อุรุกวัย อาร์เจนตินา ชิลี

             ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการของประเทศบราซิลเพราะเคยเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกสมาก่อน

             ภาษาอินเดียนแดง ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองยังคงพูดภาษาของตน และมี 2 ประเทศที่กำหนดให้ภาษาอินเดียนแดงเป็นภาษาทางการ ควบคู่ไปกับภาษาสเปนด้วย คือ เปรู และโบลิเวีย

             ภาษาอื่นๆ  ในบางประเทศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ คือ ประเทศกายอานา     หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ประเทศที่ใช้ภาษาฮอลันดา คือ ซูรินาเม ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส คือ เฟรนช์เกียนา

3. ศาสนาในทวีปอเมริกาใต้

              ทวีปอเมริกาใต้ ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนศาสนาลัทธิความเชื่ออื่นมีประชากรส่วนน้อยนับถือ พอสรุปได้ดังนี้

              ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  นำมาเผยแพร่โดยชาวสเปน และ โปรตุเกส ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเข้ามาแสวงหาอาณานิคม จึงมีประชากรชาวอเมริกาใต้นับถืออยู่ถึง ร้อยละ90

             ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์  ประชากรอีกร้อยละ10 นับถือ นำมาเผยแพร่โดยคณะมิชชันนารีจากประเทศสหรัฐอเมริกา และศาสนาอื่นๆ ได้แก่ ลัทธิความเชื่อของชาวอินเดียนแดง ลัทธิความเชื่อของชาวนิโกร ศาสนายูดาย ของชาวยิว ลัทธิขงจื๊อและพระพุทธศาสนาของชาวจีน และศาสนาฮินดู ของชาวอินเดีย

            ประชากรในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาอย่างยิ่งโดยสืบทอดมาจากประชากรที่อพยพมาจากภาคใต้ของทวีปยุโรป เช่น ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศบราซิล มีการจัด   งานคาร์นิวัลเป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ มีการเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน  เช่นเดียวกับงานคาร์นิวัลที่จัดขึ้นในประเทศโปรตุเกส เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การวางแผนประชากร

หากสังคมใดไม่ได้ให้ความสนใจกับการเพิ่มหรือการลดของประชากรในสังคม ปัญหาด้านประชากรก็จะเกิดขึ้นตามมา กล่าวคือ หากมีจำนวนประชากรเพิ่มมากเกินไป ปัญหาด้านการผลิต การบริการ และการบริโภคของคนในสังคมจะเกิดความไม่เพียงพอตามมา หรือหากมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาด้านจำนวนคนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศก็จะเกิดขึ้นตามมาได้เช่นกัน ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องทำการควบคุมปริมาณสมาชิกภายในสังคมให้มีขนาดที่เหมาะสม

การวางแผนครอบครัวถือได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งของรัฐที่ถูกนำมาใช้ในการวางแผนด้านประชากรของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนคนเกิดให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คู่สมรสสามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นรัฐจึงต้องให้ความรู้และรณรงค์ในการวางแผนครอบครัวแก่คู่สมรส โดยให้คู่สมรสมีการคุมกำเนิด มีบุตรในจำนวนที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว

การคุมกำเนิดมิได้เป็นวิธีการควบคุมการเกิดในการวางแผนครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการควบคุมการเกิดของประชากรให้เกิดในเวลาที่เหมาะสม โดยมีพ่อและแม่ที่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม วิธีการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลายวิธี สามารถเลือกใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เช่น การทำหมัน การนับวันตกไข่ของสตรี การกินยาคุมกำเนิด การใส่ห่วง การใช้ถุงยางอนามัย การฉีดยา การใช้โฟม ใช้เยล และใช้ครีมฆ่าเชื้อ เป็นต้น

ประชากรมนุษย์ถือได้ว่า เป็นทรัพยากรที่สำคัญประเภทหนึ่งของสังคม ดังนั้นการควบคุมจำนวนประชากรให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัจจุบันมนุษย์มีความสามารถในการควบคุมจำนวนประชากรมากกว่าให้ธรรมชาติเป็นตัวควบคุม หากเรามองย้อนไปในอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่า มนุษย์พยายามทำการควบคุมจำนวนประชากรด้วยตัวเองมากกว่าที่จะให้ธรรมชาติเป็นผู้ควบคุม และหาทางเอาชนะธรรมชาติในการเพิ่มและลดจำนวนประชากรตลอดมา