วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลลิลฯเปิดตัวคอนโดแบรนด์ใหม่โซนลาดพร้าว-รามฯ

ลลิลฯ เห็นต่าง มองดีมานด์ที่อยู่อาศัยครึ่งปีหลังไม่ได้ชะลอตัวลง ดันคอนโดฯ แบรนด์ใหม่ เปิดตัวพร้อมกันบน 2 ทำเล สุดสัปดาห์นี้

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยังเชื่อว่าความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ชะลอตัวลงแต่อย่างใด แม้ว่ากำลังซื้อในภาพรวมอาจจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม และจากกระแสความต้องการที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่  ซึ่งมีครอบครัวขนาดเล็กลง และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ต้องการการเดินทางที่สะดวกสบาย บริษัทจึงได้เปิดตัวคอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ “ลิปป์” (LIB) บน 2 ทำเล ได้แก่  รามคำแหง 43/1 และ ลาดพร้าว 20

สำหรับโครงการลิปป์ รามคำแหง 43/1 เป็นคอนโดมิเนียม สูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร บนเนื้อที่โครงการกว่า 2 ไร่  บริเวณซอยคุณหญิงเจือ นครราชเสนี หรือซอยรามคำแหง 43/1 รวม 229 ยูนิต มีขนาดห้องตั้งแต่ 26.25-40.50  ตารางเมตร และช้อปเฮ้าส์ จำนวน 3 ร้าน  ราคาเริ่มต้น 1.45 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2556

ในขณะที่โครงการลิปป์  ลาดพร้าว 20 เป็นคอนโดมิเนียม สูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่บริเวณซอยลาดพร้าว 20 ห่างจากสถานี MRT ลาดพร้าว 350 เมตร รวม 175  ยูนิต มีขนาดห้องตั้งแต่ 26.25 - 43  ตารางเมตรราคาเริ่มต้น  1.89 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1   ปี 2557

โดยทั้งสองโครงการได้ผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)  เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวโครงการและการขายอย่างเป็นทางในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2556 นี้ที่สำนักงานขายโครงการ

นอกจากนี้ นายชูรัชฏ์ ยังได้เปิดเผยถึงแนวโน้มในการขยายโครงการไปยังต่างจังหวัดว่าหากจะมีการขยายโครงการไปจริง จะเป็นโครงการในแนวราบมากกว่าเนื่องจากรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในต่างจังหวัดนิยมพักอาศัยในบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์มากกว่าคอนโดมิเนียม ส่วนงบในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการเพิ่มเติมในปีนี้ บริษัทได้ตั้งงบไว้ที่ 800-1,000 ล้านบาท โดยจะเน้นที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกใช้งบไปแล้วประมาณ 600-700 ล้านบาท

ด้านราคาขายนั้น บริษัทได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นอีก 3-5% ตามต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่เลือกปรับในบางทำเลเท่านั้น

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ราคาที่ดินหนองคายพุ่งรับ“เออีซี“ แห่ซื้อเก็งกำไรขายกลุ่มทุน

           นายวิวัฒน์ชัย จิวาศักดิ์อภิมาศ รองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดหนองคาย และผู้ประกอบการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ราคาที่ดินของจังหวัดหนองคายตอนนี้ถือเป็นช่วงที่มีราคาสูงมาก ราคาที่ซื้อขายกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้มาก และที่สำคัญมีการซื้อเพื่อเก็งกำไรกัน ส่งผลให้ราคาซื้อขายจริงสูงขึ้น โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์และที่ดินริมถนนสายที่ตัดจากตัวเมืองหนองคายไปด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้น ขณะนี้บูมกว่าทุกจุด อาคารพาณิชย์จากเดิมที่มีการซื้อขายกันที่ห้องละ 1.9-2 ล้านบาท สูงขึ้นเป็น 5-7 ล้านบาท ส่วนราคาที่ดินที่ซื้อ-ขายนั้นก็สูงกว่าราคาประเมินหลายเท่าตัว ล่าสุดที่มีการซื้อขายกันอยู่ที่ไร่ละ 8-9 ล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินล่าสุดที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 5.2 ล้านบาทต่อไร่ทางด้าน นายวีระชัยโชค มงคลภูมิรัตน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ราคาที่ดินในจังหวัดหนองคายขณะนี้ถือว่าสูงมากจนเต็มเพดาน เฉพาะค่าเช่าก็ยังสูงเช่นเดียวกัน ล่าสุดมีการเช่าที่ 30 ไร่ 30 ปี ค่าเช่าสูงถึง 60 ล้านบาท ส่วนราคาขายที่ดินในตัวเมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก พื้นที่กว่า 4 ไร่ ขายกันที่กว่า 100 ล้าน ที่ริมแม่น้ำโขง 3 ไร่ ขาย 75 ล้านบาท โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ซีพี แสนศิริ รวมไปถึงกลุ่มทุนที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัย ได้เข้ามาหาที่ดินแปลงใหญ่เพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม เพื่อรองรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 คาดกันว่าจะมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในจังหวัดหนองคายเป็นจำนวนมาก มีการขออนุญาตสร้างรีสอร์ต โรงแรมขนาดใหญ่ 7 ชั้นริมถนนหนองคาย-โพนพิสัย รวมไปถึงโฮมโปรที่ได้ลงมือก่อสร้างไปแล้ว การลงทุนโครงการใหญ่ๆ ข้างต้นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ทำให้ขณะนี้คนหนองคายระดับรากหญ้าจนถึงระดับกลาง ยากที่จะมีที่ดิน รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบ้านและอาคารพาณิชย์ในเขตเมืองเป็นของตัวเองการซื้อขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ในจังหวัดหนองคายเริ่มคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2553 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2555 จนถึงขณะนี้การซื้อขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ในจังหวัดหนองคายคึกคักมาก ทำให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อเทียบกับปี 2554 แล้ว ราคาที่ดินและอาคารพาณิชย์ปรับขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัว จากกระแสข่าวที่มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการใหญ่ๆ อีกหลายโครงการจะเข้ามาดำเนินการในเร็วๆ นี้ ประกอบกับจังหวัดหนองคายเป็นหน้าด่านในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการเปิดเออีซีในปี 2558 จึงทำให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ มีกลุ่มทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเป็นแปลงใหญ่ตั้งแต่ 50-300 ไร่ เพื่อขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาตั้ง ยิ่งส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดหนองคายมีราคาสูงเกินจริงขึ้นไปอีก ที่ดินที่มีการซื้อขายกันขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของขายเอง แต่เป็นมือที่ 3-4 แล้วสำหรับราคาประเมินที่ดินที่สูงที่สุดนั้นจะอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยเฉพาะที่ดินที่ติดกับถนนประจักษ์ที่เป็นถนนสายหลักภายในเขตเทศบาลราคาประเมินสูงมาก อยู่ระหว่าง 8-10 ล้านบาทต่อไร่ แต่การซื้อขายกันจริงๆ แล้วสูงกว่าราคาประเมินมาก โดยเฉพาะแปลงสวยๆ นั้นราคาซื้อขายกันจริงๆ จะสูงเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนที่ดินริมโขงภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคายนั้น ราคาประเมินอยู่ระหว่าง 3-4 ล้านบาท แต่ซื้อขายกันจริงๆ สูงกว่านี้จุดที่มีการซื้อขายสูงกว่าราคาประเมินอีกจุดหนึ่ง คือที่ดินริมถนนสายจากตัวเมืองหนองคายไปด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจ มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์มากกว่า 100 ห้อง ก็สามารถขายได้หมดภายในเวลาไม่นาน ราคาประเมินที่ดินริมถนนเส้นนี้อยู่ที่ประมาณ 1.8-2 ล้านบาทต่อไร่ แต่ซื้อขายกันจริงๆ สูงถึง 8-9 ล้านบาทต่อไร่เลยทีเดียว

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเคหะแห่งชาติ (ประเทศไทย)

การเคหะแห่งชาติ (อังกฤษ: National Housing Authority) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516

ประวัติ
สืบเนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2483 หลังจากเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี พ.ศ. 2504 ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2493) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2496) และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครกรุงเทพ (ปี พ.ศ. 2503) จนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงมีการกำหนดนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยขึ้น และได้จัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
จัดให้มีเคหะเพื่อประชาชน เช่า หรือเช่าซื้อ
จัดหาเงินกู้มาสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเช่าซื้อหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลที่จะสร้างที่อยู่อาศัย
ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดสรรที่ดิน
และต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติ การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 ดังนี้
จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย
ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเอง หรือแก่บุคคลผู้ประสงค์ จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช.ในการจัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อหรือซื้อ
ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน
ปรับปรุงรื้อหรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรมเพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น
ประกอบธุรกิจการอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น


วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียน

 การได้ทราบถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์เปรียบเทียบระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ซื้อบ้าน นักลงทุนและนักพัฒนาที่ดินไทยไม่น้อย และเผื่อเป็นข้อคิดประกอบการวางแผนการลงทุน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการนำเสนอสถานการณ์ล่าสุดจากการนำเสนอของผู้รู้จากแต่ละประเทศโดยตรง
          ในระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม ศกนี้ ผมไปเป็นวิทยากรในงานสัมมนาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งภูมิภาคอาเซียน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้รู้จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มานำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดอส้งหาริมทรัพย์ในประเทศของตน ผมจึงขอสรุปความเพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ล่าสุดและเผื่อเป็นข้อคิดสำหรับประเทศไทย

บรูไน
          ประเทศนี้มีประชากรเพียง 383,000 คน เป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการผลิตน้ำมันมหาศาล ดังนั้นประชาชนได้สวัสดิการอย่างดี มีขนาดเล็กเพียง 5,270 ตร.กม. หรือใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครเพียง 3 เท่า แต่มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่รวมอีก 5 จังหวัดโดยรอบคือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครและนครปฐมด้วยแล้ว
          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือที่ดินทั้งหมดมีเพียง 4% ที่เป็นของเอกชน ที่เหลือเป็นของรัฐ  58% เป็นป่าไม้ 36% และอื่น ๆ 2% ในจำนวน 4% ที่เป็นของเอกชนนั้น 73% ใช้เพื่อการเกษตร 2% ใช้เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 16% ใช้เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้นและอีก 11% ใช้ผสมระหว่างที่อยู่อาศัยกับพาณิชยกรรม เช่น ตึกแถว
          ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนี้ไม่คึกคัก ทั้งนี้คงเป็นเพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ค่อนข้างต่ำมานาน (3-4%) มีภาวะล้นตลาดในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยที่แต่เดิมเน้นบ้านเดี่ยวก็หันมาทำอาคารชุดบ้าง เพราะที่ดินที่จะพัฒนามีจำกัด อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้บรูไนจะมีขนาดเล็กเพียงใด แต่ก็ไม่มีใครสามารถผูกขนาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ นี่เป็นการสะท้อนธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดติดกับทำเล ไม่มีใครจะสามารถสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้ถูกใจคนทุกทำเลได้

มาเลเซีย
          ประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งสำคัญของเรานี้ มีดีที่มีน้ำมัน และมีนักลงทุนจากตะวันออกกลางมามากเป็นพิเศษ อาคารชุดราคาแพงใจกลางเมือง 30% ซื้อไว้โดยคนต่างชาติซึ่งส่วนมากมาจากตะวันออกกลาง ในขณะที่ประเทศไทยของเราขาดโอกาสอันนี้ เพียงเพราะมีคนไปขโมยเพชรและคนที่ “อม” เพชรซาอุฯ ไปจนประเทศชาติเศร้าหมองเช่นนี้
          65% ของอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาในมาเลเซียคือที่อยู่อาศัย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับไทยที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA สำรวจไว้ว่ามีประมาณ 70% ปีที่แล้วมีที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ 52,570 หน่วยทั่วประเทศซึ่งต่ำกว่าไทยเพราะเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ AREA ก็ยังมีที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ถึง 81,364 หน่วย ราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่ม 4-8%
          อาคารชุดใจกลางเมืองรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าก็เติบโตสูงมาก ราคาแพงสุดของเขาตกเป็นเงินหน่วยละ 30-80 ล้านบาท ส่วนอาคารชุดทั่วไปราคาตารางเมตรละ 65,000 – 90,000 บาท ซึ่งก็คล้ายกับไทย
          ในกรณีอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ มาเลเซียมีพื้นที่สำนักงานมากกว่าไทยคือ 14.5 ล้านตารางเมตร (คงรวมสำนักงานขนาดเล็กไปด้วย) และมีพื้นที่ศูนย์การค้าประมาณ 8.6 ล้านตารางเมตร โดยค่าเช่าตกตารางเมตรละ 1,600 – 7,500 บาท
          การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียนั้น ภาครัฐมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ในกรณีของไทยที่เน้นการสร้างบ้านเอื้ออาทรหรือโครงการ “ลูบหน้าปะจมูก” อื่น ๆ รัฐบาลมาเลเซียมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ การพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มั่นคงและยาวนาน ข้อนี้ไทยควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง

สิงคโปร์
          ประเทศขนาดกระจ้อยร่อยที่มีพื้นที่เพียง 44% ของกรุงเทพมหานครนี้ เป็นศูนย์รวมการลงทุน ถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษคล้ายฮ่องกง หรือดูไบ ปรากฏว่าประเทศนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.7% ในปีที่แล้ว สูงกว่าที่ประเทศเขาเองคาดหวังด้วยซ้ำ ด้วยความพิเศษของสิงคโปร์นี้จึงช่วงชิงความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย เป็นต้น
          ราคาอาคารชุดพักอาศัยที่เคยตกต่ำมาในช่วงก่อนได้เติบโตขึ้นจนปีที่แล้วเติบโตสูงเหนือระดับราคาสูงสุดของปี 2539 (ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540) แล้ว โดยราคาเพิ่มขึ้นถึง 30.4% ขณะนี้ราคาสูงสุดตารางเมตรละ 1 ล้านบาท
          ในด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าก็เพิ่มขึ้น 18% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยค่าเช่าตกเป็นเงินตารางเมตรละ 7,500 – 15,000 บาท (ของไทยอยู่ที่ 2,000 บาท) ส่วนสำนักงานก็เพิ่มค่าเช่าพื้นที่ไป 29% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเช่าเฉลี่ยขณะนี้ตกเป็นเงิน 5,400-7,500 บาทต่อตารางเมตร (ของไทยอยู่ที่ 600 บาท)
          เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับการลงทุนของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในเมื่อเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังย่ำแย่ในขณะนี้ จึงอาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ชะลอตัว ในไตรมาส 1/2551 นี้ โครงการพัฒนาที่ดินหลายแห่งได้เริ่มชลอการเปิดตัวออกไป

อินโดนีเซีย
          ประเทศนี้มีขนาดใหญ่กว่าเราเกือบ 4 เท่าทั้งในด้านขนาดที่ดินและในด้านประชากร อย่างไรก็ตามฐานะทางเศรษฐกิจอาจจนกว่า คือมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น ทำให้ประเทศนี้มีประชากรยากจนประมาณ 18% สูงกว่าไทยที่มีคนจนอยู่ราว 10%
          ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า จึงทำให้มีพื้นที่อาคารสำนักงานเพียง 3.5 ล้านตารางเมตรในเขตมหานครจาการ์ตา (ซึ่งรวมกรุงจาการ์ตาและเมืองโดยรอบ คล้ายภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของไทย) ในขณะที่กรุงเทพมหานครของเรามีพื้นที่สำนักงานถึง 8 ล้านตารางเมตร
          สำหรับโครงการอาคารชุดในเขตมหานครจาการ์ตามีห้องชุดเปิดตัวใหม่ในปี 2550 เพียง 11,606 หน่วย ซึ่งถ้าเทียบกับกรุงเทพมหานครแล้ว ถือว่าน้อยมาก ในขณะที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA สำรวจพบห้องชุดถึง 44,750 หน่วย เปิดใหม่ในกรุงเทพมหานครในห้วงเวลาเดียวกัน
          ปรากฏการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศอินโดนีเซียจะมีขนาดใหญ่ ทรัพยากรมาก แต่หากการจัดการไม่ดี และขาดความมั่นคงทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ประเทศมีการเติบโตในขอบเขตจำกัด

          สำหรับประเทศเวียดนามและกัมพูชานั้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA ได้จัดทำแถลงข่าวฉบับที่ 7 และ 8 เกี่ยวกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสองประเทศนี้เผยแพร่ไปเรียบร้อยแล้ว (โปรดดูรายละเอียดในเว็บไซต์ www.area.co.th)

 จากการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สามารถพบข้อส้งเกตที่น่าสนใจบางประการ กล่าวคือ
          1. อสังหาริมทรัพย์นั้น มีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีการเติบโตดี อสังหาริมทรัพย์ก็จะโตตาม การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่การดึงดูดการลงทุนโดยการทำประเทศให้มีความมั่นคงทางการเมือง หากประเทศมีความวุ่นวายเช่นนี้จะส่งผลลบต่อชาติอย่างมหาศาล อีกทางหนึ่งในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่การกระตุ้นภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคหรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อวางรากฐานสำคัญของประเทศโดยภาครัฐ (ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์เพียงเพื่อช่วยผู้ประกอบการเช่นที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่)
          2. อสังหาริมทรัพย์มีธรรมชาติที่แน่ชัดที่ติดกับทำเล ไม่มีใครครองส่วนแบ่งตลาดได้ และตลาดหลักก็คือตลาดใช้สอยในประเทศ การคาดหวังให้ต่างชาติมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึง และเป็นเพียงการส่งเสริมให้ “แร้งลง” มาจิกกินประเทศเราเท่านั้น
          3. เราควรพยายามเปิดกว้างรับข้อมูลความเปลี่ยนแปลงอสังหาริมทรัพย์จากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น เพื่อให้ทันสถานการณ์และปรับใช้เพื่อการลงทุน การวางแผนพัฒนาในประเทศของเรา ทั่วโลกมีศูนย์ข้อมูลและสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ให้บริการข้อมูลแก่สาธารณชนที่สนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ติดข้อจำกัดเช่นสมัยก่อนที่มีข้อมูลจากเฉพาะบริษัทนายหน้าข้ามชาติ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดที่ความเบี่ยงเบนเนื่องจากผลประโยชน์ ด้วยโอกาสที่เปิดเช่นนี้นักลงทุนและผู้ประกอบการมืออาชีพจึงต้องมองออกไปในโลกกว้างให้มาก