
สำหรับภาพรวมของผังเมืองฉบับใหม่ การแบ่งโซนการใช้ประโยชน์พื้นที่ยังคงใช้โครงสร้างเดิมตามผังเมืองฉบับก่อน โดยพื้นที่ศูนย์กลางเขตชั้นในของกรุงเทพฯ เป็นเขตเศรษฐกิจหลักจะเป็นพื้นที่ประเภทพาณิชยกรรมและเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น ในขณะพื้นที่รอยต่อย่านใจกลางเมืองกับชานเมือง เป็นพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยจะอยู่ในย่านชานเมืองทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ขณะนี้พื้นที่เขตรอบนอกเมือง ยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม โดยพื้นที่ทแยงเขียวที่เป็นประเภทอนุรักษ์ชนบทก็ยังคงไว้เช่นเดียวกับผังเมืองในฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีที่ดินประเภทการรักษาย่านประวัติศาสตร์ในย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี และที่ดินประเภทอุตสาหกรรมปรากฏให้เห็นน้อยและคงถูกควบคุมไว้อยู่ในย่านชานเมือง
ทั้งนี้ในผังเมืองฉบับใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามแผนของรัฐบาล ทั้งนี้ในระยะของการบังคับใช้ผังเมืองใหม่ฉบับนี้จะมีการปรับเปลี่ยนกรุงเทพฯ จากมหานครที่มีปัญหาวิกฤติด้านการจราจรโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นมหานครที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนจากที่ปัจจุบันมีระบบรางให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 60 กิโลเมตร จะเพิ่มเป็น กว่า 120 กิโลเมตร และที่สำคัญที่สุดคือผังเมืองฉบับใหม่ได้วางแผนพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครสีเขียวที่ประหยัดพลังงาน และลดปัญหาภาวะโลกร้อน แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงปรับให้สอดคล้องกับสภาพการพัฒนาพื้นที่ในปัจจุบันและศักยภาพการพัฒนาในอนาคตของพื้นที่บางบริเวณ นอกจากนี้ยังมีแผนผังอื่น ๆ เช่น แผนผังโครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักและถนนสายรองและส่งเสริมให้มีการเข้าถึงสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางที่สะดวก
โดยผังเมืองฉบับนี้จะมีแผนผังพร้อมด้วยข้อกำหนด 4 ฉบับ คือ (ก) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นแผนผังกำหนดรายละเอียดบริเวณที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางการพัฒนาของเมืองในอนาคต ระบุกิจกรรมที่อนุญาต กิจกรรมที่อนุญาตโดยมีเงื่อนไข และกิจกรรมที่ไม่อนุญาต เพื่อควบคุมการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดผล
กระทบต่อสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม ประกอบด้วย การใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวน 10 ประเภท โดยมีข้อกำหนดระบุกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินและระดับความหนาแน่นของมวลอาคารเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมและเป็นแนวทางของการพัฒนาในพื้นที่แต่ละบริเวณ (ข) แผนผังแสดงที่โล่ง เป็นแผนผังแสดงบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่โล่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์ที่ดีของเมือง รวมทั้งเพื่อการป้องกันน้ำท่วม และการนันทนาการ โดยมีข้อกำหนดให้ใช้ประโยชน์เพื่อการนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการป้องกันน้ำท่วม (ค) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง เป็นแผนผังที่แสดงโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งในอนาคต เพื่อให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาและการขยายตัวของเมือง ประกอบด้วยแนวถนนเดิม ขยายถนนโครงการ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมและขนส่ง ได้แก่ โครงการสะพาน โครงการทางพิเศษ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (ง) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เป็นแผนผังเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเฉพาะส่วนที่เป็นการดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ให้มีความเหมาะสมเพียงพอกับการให้บริการอย่างได้มาตรฐาน ทั้งนี้ผังเมืองฉบับนี้ยังมีแผนผังกิจการสาธารณูปโภคเป็นฉบับแรกของประวัติศาสตร์การผังเมืองไทย โดยผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ได้มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
สำหรับสาระสำคัญข้อกำหนดที่มีความแตกต่างจากผังเมืองฉบับก่อน อาทิ เพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่อาจขัดต่อสุขลักษณะความปลอดภัยของประชาชนและสวัสดิภาพของสังคม จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ สนามแข่งรถ สนามแข่งม้า สนามยิงปืน สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงคนพิการ และที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน การเปลี่ยนเกณฑ์จำแนกประเภทอาคาร จากเดิมใช้ตามกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น “อาคารขนาดใหญ่” “อาคารสูง” และ “อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” เป็นการจำแนกตามขนาดพื้นที่การประกอบกิจกรรม เช่น ไม่เกิน 1,000 ตร.ม. 2,000 ตร.ม. 5,000 ตร.ม. 10,000 ตร.ม. และเกินกว่า 10,000 ตร.ม. เพิ่มข้อกำหนดให้มีพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ หรือ BAF ร้อยละ 50 ของอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม หรือ OSR เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม เป็นต้น และยังมีการเพิ่มเติม FAR Bonus เป็นมาตรการเชิงบวก โดยเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) ได้ เช่น จัดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับประชาชนทั่วไปหากโครงการตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าที่เหมาะเป็นจุดจอดแล้วจรในรัศมี 500 เมตรได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีอ่อนนุช สถานีลาดกระบัง สถานีหัวหมาก สถานีบางบำหรุ สถานีตลิ่งชัน สถานีอุดมสุข และสถานีแบริ่ง การจัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะ ในโครงการอาคารพาณิชย์ สำนักงาน หรืออาคารสาธารณะในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ก็จะได้รับสิทธิ FAR เพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นต้น
นับว่าผังเมืองฉบับใหม่นี้ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและสาระสำคัญให้เจ้าของที่ดินจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในภาพรวมและยังใช้สิทธิจูงใจทดแทนเยียวยาด้วย เป็นกฎหมายใกล้ตัวอีก 1 ฉบับสำหรับคนกรุงก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ กับที่ดินของตนเอง ตรวจสอบผังเมืองกันสักนิด จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น