สำมะโนประชากรและเคหะ คืออะไร
สำมะโนประชากรและเคหะ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรทุกคนในประเทศ ตามที่อยู่จริง และที่อยู่อาศัยของประชากรทุกคน ตามที่อยู่จริง ซึ่งเป็นเสมือนการฉายภาพนิ่ง ณ วันสำมะโน (วันที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเวลาอ้างอิง) เพื่อแสดงภาพว่า ณ วันสำมะโน ประเทศไทยมีประชากรเท่าใด อยู่ที่จังหวัด/อำเภอ/ตำบลใด เป็นชาย/หญิง เด็ก/คนทำงาน/คนแก่ คนพิการเท่าใด มีการศึกษาระดับไหน มีผู้รู้หนังสือมากน้อยเพียงใด คนในวัยทำงานมีงานทำหรือไม่ อาชีพ/สถานภาพเป็นอย่างไรและมีสถานที่อยู่อาศัยแบบไหน ถูกสุขลักษณะหรือไม่ ที่ใดมีผู้ย้ายถิ่นเข้า/ออกมาก เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย คือ ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ แสดงจำนวนประชากร ตามทะเบียนบ้าน (ตามกฎหมาย) และมีข้อมูลเฉพาะเพศและอายุ เท่านั้น ทั้งนี้ประชากรจำนวนมากที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน
วัตถุประสงค์ของการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ
1. เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของประชากร (เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน เป็นต้น) ตามที่อยู่จริง และที่อยู่อาศัย (ประเภท การมีน้ำดื่ม/น้ำใช้ เป็นต้น)
2. เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย (หมู่บ้าน อบต. เทศบาล เป็นต้น)
3. เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและที่อยู่อาศัยในรอบ 10 ปี
ประโยชน์ของข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ
ภาครัฐ
1. ใช้ในการกำหนดโยบาย/วางแผนทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
2. ใช้เพื่อจัดเตรียมงบประมาณเพื่อจัดหาสาธารณูปโภคและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการหรือตามความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด) อาทิเช่น
- การจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอและถูกสุขลักษณะ (ที่อยู่อาศัย น้ำ/ไฟ การบริการสาธารณสุข รถประจำทาง ที่ทิ้งขยะ ฯลฯ)
- การจัดจำนวนโรงเรียน/ครูให้เพียงพอและเหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- การจัดเตรียมวัคซีนสำหรับเด็กแต่ละวัยให้เพียงพอ
- การจัดสวัสดิการให้เพียงพอกับคนด้อยโอกาส (คนชรา คนพิการ)
- ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่หนาแน่นหรือแออัด จำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการด้านแรงงานให้เหมาะสมและต้องจัดบริการสาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อป้องกันโรคระบาด/โรคติดต่อบางประเภทที่หายไปแล้วในประเทศไทย แต่มีโอกาสกลับมาใหม่กับแรงงานต่างด้าว
- ข้อมูลโครงสร้างของประชากรตามที่อยู่จริง จะใช้เป็นฐานในการจัดแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยในการจัดทำ GPP นั้นจำเป็นต้องใช้จำนวนประชากรที่ถูกต้องครบถ้วนในระดับจังหวัด และในการคำนวณตัวชี้วัดที่แสดงผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการในจังหวัดได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องใช้จำนวนประชากรจริงเป็นตัวหาร เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัว อัตราการมารับบริการด้านต่างๆ เป็นต้น
3. ใช้เป็นฐานในการคาดประมาณประชากรในอนาคต (Population Projection)
4. ใช้ในการประเมินผลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554) และใช้จัดเตรียมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)
5. ใช้เป็นกรอบในการเลือกตัวอย่าง (Sampling Frame) สำหรับการสำรวจในรายละเอียดเฉพาะเรื่องด้านประชากร/สังคม
6. ใช้เป็นฐานร่วมกับการสำรวจต่างๆ เช่น การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในการจัดทำตัวชี้วัดต่างๆ เช่น
- แผนที่ความยากจน (Poverty Mapping)
- แผนที่ผู้หิวโหย (Hunger Mapping)
ภาคเอกชน
ใช้ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ต่างๆ (ตามเพศ อายุ อาชีพ เป็นต้น) เพื่อประกอบ การตัดสินใจในการทำธุรกิจ เช่น ตั้งร้านค้าหรือขยายกิจการตามลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ภาคประชาชน
มีความอยู่ดีมีสุข เนื่องจากได้รับบริการจากภาครัฐอย่างเพียงพอและทั่วถึง
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้กำหนดแผนที่จะใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. การสัมภาษณ์ เป็นวิธีหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำสำมะโนครั้งนี้ ซึ่งผู้สัมภาษณ์ สามารถชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามแก่ผู้ตอบสัมภาษณ์ได้โดยตรง
2. การทอดแบบ เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่เป็นสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ เช่น แฟลต หรือคอนโดมิเนียมบางแห่ง และกรณีที่ไม่พบตัวผู้ตอบสัมภาษณ์ พบตัวยาก ไปหลายครั้งไม่พบ จะใช้วิธีการทอดแบบสอบถาม และนัดหมายมารับหรือสัมภาษณ์ภายหลัง
3. การให้ข้อมูลทาง Internet เป็นวิธีที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในการทำสำมะโนครั้งนี้
4. การให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ ผ่าน Telephone Interview Center
การเสนอผลและการเผยแพร่
การเสนอผล สำมะโนประชากรเคหะ พ.ศ. 2553 เสนอผลดังนี้
1) รายงานผลเบื้องต้น ประมวลผลจากแบบนับจด เพื่อเสนอผลในระดับจังหวัด
(76 ฉบับ) และทั่วราชอาณาจักร (1 ฉบับ)
2) รายงานผลล่วงหน้า ประมวลผลจากแบบแจงนับของครัวเรือนตัวอย่าง ร้อยละ 2 เพื่อเสนอผลในระดับภาคและทั่วราชอาณาจักร (1 ฉบับ)
3) รายงานผลฉบับสมบูรณ์ ประมวลผลจากแบบแจงนับของครัวเรือนทั้งหมด เพื่อเสนอผลในระดับจังหวัด (76 ฉบับ) ระดับภาค (4 ฉบับ) และทั่วราชอาณาจักร (1 ฉบับ)
4) รายงานเชิงวิเคราะห์ ร่วมกับสถาบันการศึกษา ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในเรื่องที่สำคัญและสอดคล้องกับความต้องการที่จะใช้ในการวางแผน เช่น การย้ายถิ่น ภาวะเจริญพันธุ์
การเผยแพร่ข้อมูล ข้อมูลสำมะโนฯ ที่ได้จะเผยแพร่ ดังนี้
1) ในรูปเอกสารรายงาน แผ่นพับ Diskette, CD-ROM
2) Internet, Web Publication
3) Data Warehouse
4) Census Info
5) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น